บีทีเอส ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แจกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม
“อนุทิน” รมว.สาธารณสุข รณรงค์กระตุ้นประชาชน กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัย โดยแจกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม ขณะที่ “คีรี ” ย้ำรถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงเดินหน้าและเข้มงวดในการยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้เดินรณรงค์ กระตุ้นให้ประชาชนมีสุขอนามัยที่ดี “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”โดยแจกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้กับประชาชนและผู้โดยสารที่มาใช้บริการ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม โดยมี นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และพนักงานบีทีเอสเข้าร่วมรณรงค์ด้วย
นายคีรี กาญจนพาสน์ เปิดเผยว่า ตนได้กำชับและสั่งการให้มีการยกระดับมาตรการทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ที่มีการข่าวแพร่ระบาดในจีน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร ทั้งการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดพื้นที่หรือจุดที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัสทั้งภายในขบวนรถและบริเวณสถานีรวมทั้งเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด และจัดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่จุดตรวจ นอกจากนี้ยังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเผยแพร่ความรู้ และการป้องกันการแพร่ระบาดให้กับผู้ใช้บริการ
ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บีทีเอสได้กำหนดมาตรฐานในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น ความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการอย่างครอบคลุมทุกด้าน ดังนี้
1.ด้านบริการผู้โดยสาร
– เพิ่มการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคภายในสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี เช่น หน้าเคาน์เตอร์ห้องจำหน่ายตั๋ว ตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ ตู้เอทีเอ็ม ราวจับบันได ราวจับบันไดเลื่อน ประตูอัตโนมัติ และลิฟต์โดยสาร เป็นต้น
– เพิ่มความถี่ทำความสะอาด และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในขบวนรถไฟฟ้าทุกขบวน ก่อนเปิดให้บริการ และระหว่างวันหลังชั่วโมงเร่งด่วน และเพิ่มการทำความสะอาด และฉีดพ่นน้ำยาเชื้อโรคในขบวนรถไฟฟ้าหลังปิดให้บริการภายในอู่จอดรถไฟฟ้า (Depot) ทุกวัน
– จัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ บริเวณจุดตรวจสัมภาระในสถานีรถไฟฟ้าทุกสถานี และผู้โดยสารสามารถรับหน้ากากอนามัยที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารทุกสถานี
-จัดห้องพยาบาลเตรียมพร้อมทุกสถานี กรณีผู้โดยสารรู้สึกไม่สบาย สามารถแจ้งนายสถานีได้ตลอดเวลา
2.ด้านพนักงาน
– ดูแลสุขภาพพนักงานที่ให้บริการในสถานี และขบวนรถไฟฟ้า ด้วยการตรวจความพร้อมด้านสุขภาพตรวจวัดไข้ก่อนการปฏิบัติงาน และให้พนักงานสวมหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยมีการตรวจวัด 2 ช่วงเวลา รอบเช้า 06.00 น รอบบ่าย 14.00 น.
– หัวหน้างาน ตรวจเช็ค ความพร้อมของพนักงาน สังเกตอาการ ภายนอก และสอบถามความพร้อมกรณีที่พบและสงสัยพนักงานท่านใด หากพบพนักงานที่ปฎิบัติหน้าที่ให้บริการแก่ผู้โดยสาร มีไข้และมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง จะให้หยุดการปฎิบัติหน้าที่ให้อาการป่วยดีขึ้น จึงกลับมาทำงานใหม่
3.ด้านการบริการระบบสาธารณะอื่นๆ ที่เชื่อมกับบีทีเอส
-รถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที ได้จัดการทำความสะอาดพ่นและเช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคภายในรถโดยสาร ในช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น. เน้นการเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่ผู้โดยสารต้องสัมผัส เช่น ราวจับ เก้าอี้นั่ง
-ประสานงานไปกับ ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ที่เชื่อมต่อ (Feeder) กับบีทีเอส เช่น รถสมาร์ทบัส สาย ปอ. 104 และสาย ปอ. 150, เรือด่วนเจ้าพระยา ในการร่วมยกระดับป้องกันโรคดังกล่าวฯ
4.ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น
– ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ประชาชนจิตอาสา ในการทำความสะอาด (Big Cleaning Day ) บริเวณทางเดินเชื่อมสกายวอล์คระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส และพื้นที่โดยรอบ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และลดการจับตัวของฝุ่น PM 2.5
– ร่วมกันแจกหน้ากากอนามัยกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมการขนส่งทางราง กรมการแพทย์ทหารบก ร่วมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะแจก 2 ช่วงเวลา ต่อวัน ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน 6 สถานี ได้แก่ สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีหมอชิต สถานีสยาม สถานีอโศก สถานีศาลาแดง และสถานีบางหว้า พร้อมทั้ง ติดโปสเตอร์ แบนเนอร์และเผยแพร่ภาพในจอแอลอีดีภายในขบวนรถไฟฟ้าถึงการประชาสัมพันธ์ วิธีป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสโคโรนา
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กล่าวอีกว่า บริษัทฯ จะยังคงมาตรฐานและมาตรการการป้องกัน เชื้อไวรัสโคโรนา อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะคลี่คลาย